การให้น้ำนมลูกเป็นสิ่งที่คุณแม่มือใหม่ทุกคนต้องทราบ วิดีโอนี้ได้รวบรวมวิธรการบีบน้ำนม การเก็บ หรือแม้กระทั่งวิธีการให้นมตอนลืมขวดนอกบ้าน
ใครที่กำลังเป็นคุณแม่มือใหม่ หรือคนใกล้ตัวกำลังเป็น แชร์วิดีโอนี้ให้เค้าดูนะ เป็นประโยชน์แน่นอน
เทคนิคการบีบเก็บน้ำนมแม่
สารพันความกลัวของบรรดาคุณแม่มือใหม่มีหลายข้อ แต่ข้อที่คิดว่าทุกคนน่าจะมีความกังวลใจมากที่สุด นั่นก็คือ คลอดลูกออกมาแล้วกลัวไม่มีนมให้ลูกกินจัง หรือ ถ้าให้ลูกกินนมแม่ แล้วเวลาตัวเองออกไปทำงาน จะให้นมลูกได้อย่างไร วันนี้เราจะมาบอกเทคนิคที่จะทำให้การให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แถมยังทำให้คุณแม่สามารถประหยัดค่านมผง และเวลาคุณแม่ออกไปทำงานก็สามารถให้นมลูกได้ค่ะ
เทคนิคบีบน้ำนมแม่
1. ก่อนจะบีบเก็บน้ำนมต้องล้างมือให้สะอาด
2. หามุมสงบ นั่งให้สบาย ผ่อนคลายจิตใจ จะช่วยให้คุณแม่หลั่งน้ำนมได้ดีขึ้น ถ้าเกิดว่าเต้านมคัดตึง ให้คุณแม่ประคบเต้านมด้วยน้ำชุบน้ำอุ่นจัดประมาณ 3-5 นาทีก่อนจะเริ่มบีบน้ำนม
3. เริ่มนวดเต้านม โดยให้คุณแม่ใช้มือข้างหนึ่งรองไว้ใต้เต้า แล้วใช้นิ้วมือทั้ง 4 นิ้วของมืออีกข้างวางไว้ด้านบนของเต้า หลังจากนั้นให้คุณแม่เริ่มนวดคลึงเต้านมเบาๆ โดยเคลื่อนเป็นรูปวงกลมจากฐานเต้านมเข้าหาหัวนม เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม โดยให้คุณแม่ทำซ้ำประมาณ 3-4 ครั้ง ก่อนเริ่มบีบน้ำนม
4. ขั้นตอนนี้เป็นการเริ่มที่จะบีบน้ำนม ให้คุณแม่วางนิ้วโป้งด้านบนของเต้านม ห่างจากฐานหัวนมประมาณ 3-4 ซม. วิธีวัดง่ายๆ ก็คือ ให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางอีกข้างมาเทียบตรงฐานหัวนม แล้วค่อยวางนิ้วโป้งด้านบนของนิ้วชี้
5. กดนิ้วโป้งและนิ้วชี้เข้าหาหน้าอกพร้อมๆ กัน แล้วบีบนิ้วเข้าหากัน โดยกด – บีบ – ปล่อย ทำแบบนี้ให้เป็นจังหวะ น้ำนมของคุณแม่ก็จะไหลออกมา ให้เก็บน้ำนมใส่ภาชนะที่สะอาด ปราศจากเชื้อ เช่น ขวดนม หรือที่เก็บน้ำนม
6. เมื่อน้ำนมเริ่มไหลน้อย ให้คุณแม่ย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วไปรอบๆ ลานหัวนมเพื่อบีบน้ำนมออกให้ทั่วเต้านม
7. เมื่อน้ำนมไหลน้อย ให้เปลี่ยนไปบีบเต้านมอีกข้างนึง
8. ให้คุณแม่นวดเต้านมซ้ำ แล้วตามด้วยการบีบนมเหมือนข้างเมื่อกี้นี้
การบีบน้ำนมด้วยมือ ถ้าทำอย่างนิ่มนวลและถูกวิธี คุณแม่จะไม่เจ็บและมีน้ำนมออกมาดี และต้องทำอย่างน้อยทุก 3 ชั่วโมงค่ะ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น
1. เมื่อเริ่มต้นบีบน้ำนมประมาณ 1-2 นาที ขอให้คุณแม่ใจเย็นและบีบเป็นจังหวะช้าๆ
2. ถ้าคุณแม่บีบตรงหัวนม จะทำให้คุณแม่เจ็บและน้ำนมไม่ไหล หรือน้ำนมไหลน้อย
3. ให้คุณแม่ฝึกทำสักระยะก็จะค่อยๆ เก่งขึ้นค่ะ
คุณแม่หลายท่านมักจะมีคำถามว่า บีบน้ำนมออกมาได้แล้ว จะเก็บรักษายังไงดี?
เคยได้ยินมาว่า มีวิธีเก็บรักษาน้ำนมหลายแบบ แล้วแต่ละวิธีอยู่ได้กี่วัน?
ไม่ต้องกังวลค่ะ บีบออกมาได้แล้ว เราก็มีการเก็บรักษาเช่นเดียวกันค่ะ
การเก็บรักษาน้ำนมแม่ มีวิธีง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
1. ให้คุณแม่แบ่งเก็บน้ำนมในปริมาณที่ลูกกินหมดพอดีในแต่ละมื้อ
2. เมื่อเก็บน้ำนมเสร็จควรปิดภาชนะให้มิดชิดทันที แล้วเขียนชื่อ วันที่ เวลาที่เก็บ จัดเรียงลำดับก่อนหลัง
3. ถ้าคุณแม่คิดว่าจะใช้น้ำนมนั้นหมดภายใน 2-3 วัน ให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาชั้นบนสุด อุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส ข้อควรระวัง อย่าเก็บที่ด้านข้างประตูตู้เย็นค่ะ
ระยะเวลาการเก็บรักษาน้ำนมแม่
- เก็บที่อุณหภูมิห้อง มากกว่า 25 องศาเซลเซียส เก็บได้ 1 ชั่วโมง
- เก็บที่อุณหภูมิห้อง น้อยกว่า 25 องศาเซลเซียส เก็บได้ 4 ชั่วโมง
- เก็บในกระติกใส่น้ำแข็ง เก็บได้ 1 วัน
- เก็บที่ตู้เย็นช่องธรรมดา เก็บได้ 2-3 วัน
- เก็บที่ตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบตู้เย็นประตูเดียว เก็บได้ 2 สัปดาห์
- เก็บที่ตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบตู้เย็นสองประตู เก็บได้ 3 เดือน
- เก็บแบบ Deep Freeze อุณหภูมิคงที่ -20 องศาเซลเซียส เก็บได้ถึง 6 เดือนค่ะ
คำถามต่อไปจากคุณแม่ท่านหนึ่ง ถามว่า ออกมาข้างนอก เอาแต่น้ำนมออกมา ไม่มีขวดนม จะให้ลูกดูดจากเต้าก้ไม่สะดวก จะทำยังไงดี?
เรื่องนี้ก็ไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ เพราะเราจะบอกวิธีการป้อนนมลูกด้วยถ้วยกันค่ะ
1. ใส่น้ำนมแม่ในถ้วยที่สะอาด ประมาณครึ่งถ้วย
2. ประคองลูกให้นั่งตัวตรง หรือกึ่งนั่งกึ่งนอนบนตักของผู้ป้อน ถ้าลูกดิ้นมากให้หาผ้ามาห่อตัวลูก
3. วางปากถ้วยที่ริมฝีปากล่างของลูก เอียงถ้วยให้น้ำนมสัมผัสปลายลิ้นของลูก ลูกจะใช้ลิ้นไล้น้ำนมแม่เข้าปาก ข้อควรระวังคือ อย่าเทน้ำนมเข้าปากลูก เพราะลูกจะสำลักได้ค่ะ
และคำถามยอดฮิตข้อสุดท้ายจากคุณแม่หลายๆ ท่าน ถามมาว่า นมที่แช่แข็งเอาไว้ เวลาจะเอาออกมาให้ลูกกิน ควรทำยังไงดีคะ แล้วเราสามารถเอาน้ำนมอุ่นในไมโครเวฟได้รึเปล่า?
การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นออกมาใช้ มีวิธีดังนี้ค่ะ
1. นมที่เก็บไว้ในช่องธรรมดา ให้นำออกมาวางไว้นอกตู้เย็นหรือแช่น้ำอุ่นเพื่อให้หายเย็น ห้ามอุ่นในน้ำร้อนจัดหรือเอาเข้าไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะภูมิต้านทานในนมแม่จะหมดไป
2. ให้นำนมเก่าในช่องแช่แข็งออกมาใช้ก่อน โดยนำมาไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา 1 คืน ให้ละลายตัว
3. นมที่ละลายแล้วยังไม่กิน ให้รีบเอากลับไปแช่เย็นใหม่ในตู้เย็นช่องธรรมดา สามารถเก็บได้อีก 4 ชั่วโมง
นมที่ละลายแล้ว แต่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเกิน 1 ชั่วโมง ให้นำไปทิ้งได้เลย ไม่ควรนำมาให้ลูกกินอีก เพราะอาจจะทำให้ลูกท้องเสีย